เราเป็นผู้ประกันตนแบบไหน?
สมาชิกประกันสังคม หรือคนที่จ่ายเงินค่าประกันสังคมทุกเดือนแบบเราจะถูกเรียกว่า ‘ผู้ประกันตน’ โดยผู้ประกันตนจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามเงื่อนไขของกฎหมายแต่ละมาตราต่อไปนี้
ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ ผู้ประกันตนภาคบังคับ คือกลุ่มผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างและพนักงานในบริษัทหรือสถานประกอบการต่าง ๆ ซึ่งต้องส่งเงินค่าประกันสังคมเป็นสัดส่วน 5% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาท แล้วนายจ้างหรือบริษัทจะสบทบให้อีกในจำนวนที่เท่ากัน รวมถึงภาครัฐที่จะช่วยสบทบอีกส่วนหนึ่งด้วย
ซึ่งกลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 33 จะได้รับสิทธิประโยชน์และคุ้มครองใน กรณีเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ว่างงาน และชราภาพ
ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือกลุ่มผู้ประกันตนที่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และทำงานในบริษัทต่าง ๆ มาก่อน แล้วยังอยากรักษาสิทธิของประกันสังคมของตัวเองไว้ โดยการสมัครเข้าใช้สิทธิในมาตรา 39 แทน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นสมาชิกในมาตรา 33 ที่จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกมาไม่เกิน 6 เดือน และต้องไม่เป็นบุคคลทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนในมาตรานี้จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 432 บาท และรัฐจะสมทบให้อีก 120 บาท โดยสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้เหมือนกับมาตรา 33 ยกเว้นกรณีว่างงาน
ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือกลุ่มผู้ประกันตนที่ไม่เคยอยู่ในมาตรา 39 และมาตรา 33 มาก่อน เป็นแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่สมัครใจเข้าร่วมกองทุนประกันสังคม โดยสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ 2 แบบ
1. แบบจ่าย 70 บาท คือผู้ประกันตนจ่ายเอง 70 บาท และรัฐสมทบให้อีก 30 บาทต่อเดือน เป็น 100 บาทเข้ากองทุนประกันสังคม คุ้มครอง 3 กรณีกรณีเจ็บป่วย, ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
2. แบบจ่าย 100 บาท คือผู้ประกันตนจ่ายเอง 100 บาท และรัฐสมทบให้อีก 50 บาทต่อเดือน เป็น 150 บาทเข้ากองทุนประกันสังคม คุ้มครอง 5 กรณีกรณีเจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต และชราภาพ
3. แบบจ่าย 300 บาท คือผู้ประกันตนจ่ายเอง 300 บาท และรัฐสมทบให้อีก 150 บาทต่อเดือน เป็น 450 บาทเข้ากองทุนประกันสังคม คุ้มครอง 4 กรณีกรณีเจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร