การออม การลงทุน

เอกสารใช้ยื่นภาษีแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง รวมไว้จบครบที่เดียว!

FWD Thailand

บอกครบ! เอกสารที่ใช้ยื่นภาษีบุคคลธรรมดาประเภทต่าง ๆ

เชื่อว่าหนึ่งในเรื่องที่ทำให้หลายคนต้องปวดหัวก็คือการต้อง ‘ยื่นภาษี’ เนื่องจากมีรายละเอียดยิบย่อยมากมายที่ต้องทราบ เพื่อให้สามารถยื่นได้อย่างถูกต้อง ไม่มีปัญหาตามมาทีหลัง โดยสิ่งที่ทำให้หลายคนต้องสับสนก็คือ เอกสารที่ใช้ยื่นภาษีบุคคลธรรมดาที่แบ่งออกเป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของรายได้ โดยแต่ละประเภทก็มีวิธีการยื่นและจัดเตรียมเอกสารที่แตกต่างกัน ดังนั้น บทความนี้จะมาเป็นตัวช่วยทุกคนในการเตรียมตัวยื่นภาษี ด้วยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารยื่นภาษี รวมถึงขั้นตอนที่ควรทราบ รับรองว่าทั้งพนักงานบริษัท และการยื่นภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ สามารถนำไปทำตามได้ ติดตามได้เลย

คู่รักกำลังจัดเตรียมเอกสารสำหรับยื่นภาษี

การยื่นภาษีรายได้ส่วนบุคคลของพนักงานบริษัท

สำหรับพนักงานประจำของบริษัทเอกชน รวมถึงรัฐวิสาหกิจ และข้าราชการที่จะต้องได้รับเงินเดือนในทุก ๆ เดือน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) จำเป็นจะต้องยื่นภาษีพนักงานบริษัทเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90/91 ภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป

แบบฟอร์มในการยื่นภาษี

แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90/91 เป็นแบบฟอร์มที่ใช้ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของพนักงานบริษัท โดยแบบ ภ.ง.ด.90 จะใช้สำหรับยื่นภาษีเงินได้พึงประเมิน ส่วนแบบ ภ.ง.ด.91 จะใช้สำหรับขอคืนภาษี โดยแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90/91 ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่

● ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ยื่นแบบ

● ส่วนที่ 2 ข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่าย

ในส่วนที่ 2 ผู้ยื่นแบบจะต้องกรอกข้อมูลรายได้จากเงินเดือนที่ได้รับจากนายจ้าง รวมถึงรายได้อื่น ๆ หากมี และให้นำรายได้ทั้งหมดมาคำนวณหาภาษีที่ต้องชำระ

เอกสารที่ต้องเตรียมในการยื่นภาษี

เอกสารที่ใช้ยื่นภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) มีดังต่อไปนี้

● หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) จากนายจ้าง

● เอกสารแสดงการลดหย่อน เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ค่าเล่าเรียน ค่าเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

การลดหย่อน

ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้หลายรายการ โดยสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังต่อไปนี้

ลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

ลดหย่อนภาษีส่วนตัว: สามารถนำเงินได้สุทธิไปหักลดหย่อนได้ 60,000 บาท โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ

ลดหย่อนภาษีคู่สมรส: ในกรณีที่คู่สมรสตามกฎหมายเป็นผู้ไม่มีรายได้ สามารถหักลดหย่อนได้ 60,000 บาท

● ลดหย่อนภาษีบุตร: สำหรับผู้เสียภาษีที่มีบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำไปหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยที่บุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี ส่วนในกรณีที่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ถึงอายุ 25 ปี (กรณีบุตรตามสายเลือดโดยชอบตามกฎหมาย สามารถลดหย่อนได้ตามจำนวนบุตรจริง แต่บุตรบุญธรรม สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้สูงสุด 3 คน และกรณีที่มีทั้งบุตรตามสายเลือดและบุตรบุญธรรม ให้ใช้สิทธิบุตรโดยสายเลือดที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้)

ลดหย่อนภาษีบิดามารดา: กรณีที่บิดามารดาที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท และที่สำคัญคือไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้

● ลดหย่อนภาษีผู้พิการ: หากมีชื่อเป็นผู้ดูแลผู้พิการตามกฎหมาย โดยที่ผู้พิการมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท สามารถหักลดหย่อนได้ จำนวนคนละ 60,000 บาท

● ค่าฝากครรภ์และทำคลอด: สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรไปหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งคน (ในกรณีที่เป็นครรภ์แฝด สิทธิการลดหย่อนจะใช้ได้เพียง 1 คนเท่านั้น เพราะถือเป็นครรภ์เดียว)

ลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

เงินประกันสังคม: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท

เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป รวมถึงประกันแบบสะสมทรัพย์: สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป และประกันแบบสะสมทรัพย์ที่จ่ายให้กับบริษัทประกันชีวิตที่จดทะเบียนในประเทศไทยไปหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือระยะเวลาเอาประกันต้องมากกว่า 10 ปีขึ้นไป

● เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง: สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพตัวเองที่จ่ายให้กับบริษัทประกันชีวิตไปลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท

กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF): สามารถนำเงินที่ลงทุนในกองทุน SSF ไปหักลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

● กองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ (RMF): สามารถนำเงินที่ลงทุนในกองทุน RMF ไปหักลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

ลดหย่อนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

ดอกเบี้ยจากเงินกู้ซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัยสามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หากมีการกู้ซื้อมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาทในกรณีที่กู้ร่วมกันหลายคน สามารถแบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆ กัน แต่โดยรวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน

ลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

เงินบริจาคเพื่อการกุศล: สามารถนำเงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาล สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สถานดูแลคนชรา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่จดทะเบียนในประเทศไทยไปหักลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

● เงินบริจาคเพื่อการศึกษา: สามารถนำเงินบริจาคให้แก่สถานศึกษาของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ไปหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

● เงินบริจาคเพื่อศาสนา: สามารถนำเงินบริจาคให้แก่วัด สำนักสงฆ์ มัสยิด โบสถ์ ศาลเจ้า ไปหักลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

เงินบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์: สามารถนำเงินบริจาคให้แก่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่จดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อวัตถุประสงค์ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น ๆ ไปหักลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมิน

เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง: สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ค่าลดหย่อนอื่น ๆ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ในแต่ละปี รัฐบาลมักออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยในปี 2567 อาจมีมาตรการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งอนุญาตให้ผู้เสียภาษีสามารถนำค่าซื้อสินค้ามาหักลดหย่อนภาษีได้

Easy e-Receipt ลดหย่อนได้ไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นสินค้าประเภทหนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP

เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ตามที่จ่ายจริง สำหรับจังหวัดรอง 55 จังหวัด เฉพาะค่าบริการท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ ค่าแพ็คเกจทัวร์ ค่าที่พักในโรงแรม รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567

สร้างบ้านใหม่ปี 2567-2568 ลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท รวมไม่เกิน 100,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาท เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568

 พนักงานบริษัทกำลังเตรียมตัวเพื่อยื่นภาษีพนักงานบริษัท

ขั้นตอนการยื่นภาษี

ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) สามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 2 วิธี คือ

1. ยื่นภาษีออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร

2. ยื่นภาษีด้วยตนเอง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสาขา

การยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ต การยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ตเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว โดยผู้ยื่นแบบสามารถยื่นภาษีได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

ขั้นตอนในการยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ต มีดังนี้

1. เตรียมเอกสาร

● หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากบริษัทที่จ้างงาน

● เอกสารประกอบลดหย่อนภาษี เช่น ใบกำกับภาษีเต็มรูปของช็อปดีมีคืน ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น

2. สมัครสมาชิก

หากยื่นภาษีออนไลน์เป็นครั้งแรก ต้องสมัครสมาชิกก่อน โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร (https://efiling.rd.go.th/) จากนั้นคลิกที่เมนู "ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต" และเลือก "สมัครสมาชิก"

3. เข้าสู่ระบบ

เมื่อสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้ว ให้เข้าสู่ระบบด้วยเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่านที่สมัครไว้

4. เลือกแบบฟอร์ม

เลือกแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ขึ้นอยู่กับประเภทของรายได้

5. กรอกข้อมูล

กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มให้ครบถ้วน ตรวจสอบความถูกต้องก่อนกด "บันทึก"

6. ตรวจสอบข้อมูล

ระบบจะแสดงข้อมูลที่กรอกให้ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง หากถูกต้องแล้วให้กด "ยื่นแบบ"

7. ชำระภาษี

เมื่อยื่นแบบภาษีเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงจำนวนภาษีที่ต้องชำระ จากนั้นสามารถชำระภาษีได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ธนาคาร ไปรษณีย์ หรือ e-payment

8. ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม

เมื่อชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงแบบฟอร์มภาษีที่ยื่นไว้ โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

9. ตรวจสอบสถานะการยื่นแบบ

สามารถตรวจสอบสถานะการยื่นแบบภาษีได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร

การยื่นภาษีด้วยตนเอง การยื่นภาษีด้วยตนเองสามารถทำได้ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสาขา โดยผู้ยื่นแบบจะต้องนำเอกสารประกอบการยื่นแบบไปยื่นด้วยตนเอง

เลือกซื้อแผนประกันกับ FWD ลดหย่อนภาษีได้ง่าย ๆ !

ถ้าหากคุณคืออีกหนึ่งคนที่ต้องเตรียมเอกสารที่ใช้ยื่นภาษีบุคคลธรรมดา และกำลังมองหาประกันดี ๆ สำหรับลดหย่อน แนะนำ แผนประกันออนไลน์ จาก FWD รวมครบทุกแผนประกัน สมัครง่ายใน 5 นาที ไม่ต้องตรวจสุขภาพ คุ้มครองทันที จ่ายสะดวก อีกทั้งเบี้ยประกันชีวิตยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซื้อสะดวกผ่านออนไลน์

Share