การออม การลงทุน

เงินเฟ้อ เงินเฟียต ตัวแปรสำคัญของเงินในกระเป๋าตังเรา

08/11/2565
ช่วงนี้หลาย ๆ คนน่าจะได้ยินคำว่า ‘เงินเฟ้อ’ และ ‘เงินเฟียต’ จากสื่อหรือคนรอบ ๆ ตัวบ่อยขึ้น ซึ่งทุกคนก็น่าจะสัมผัสได้ถึงปัญหาบางอย่างภายใต้คำเหล่านี้ แล้วคำว่าเงินเฟ้อและเงินเฟียตนี้ แท้จริงแล้วมันคืออะไร ส่งผลต่อเงินในกระเป๋าของเราแค่ไหน วันนี้เรามีคำอธิบายง่าย ๆ มาฝากกัน

เงินเฟียตเพิ่มเงินเฟ้อ

ในอดีต การที่แต่ละประเทศจะผลิตเงินออกมาใช้ได้นั้น จะต้องมีการสำรองค่าเงินด้วยสินค้ามีค่าอย่าง ทองคำ หรือเงินสกุลอื่น ๆ จนมาในปี ค.ศ. 1971 ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศยกเลิกการใช้ทองคำหนุนหลังเงินดอลล่าร์สหรัฐ โดยเงินที่ไม่มีสินค้ามีค่ามาหนุนหลังนี้ถูกเรียกว่า ‘เงินเฟียต (Fiat)’ หรือสกุลเงินที่ออกโดยคำสั่งของรัฐบาล เช่น สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ, สกุลเงินยูโร, สกุลเงินปอนด์ และสกุลเงินรูปีอินเดีย เป็นต้น

การเกิดขึ้นของเงินเฟียตทำให้สหรัฐและประเทศอื่น ๆ สามารถผลิตธนบัตรออกมาใช้อย่างไม่จำกัด ตามนโยบายการเงินของประเทศในขณะนั้น เมื่อจำนวนเงินถูกผลิตออกมาเยอะขึ้นมูลค่าของเงินก็ต่ำลง ทำให้เกิดสภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ ที่สูงขึ้น

ภาวะเงินเฟ้อ ก็คือภาวะทางเศรษฐกิจที่สินค้าและบริการต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้น ทำให้เงินมีมูลค่าน้อยลง หรือก็คือเงินจำนวนเท่าเดิมแต่ซื้อสินค้าเดิมได้ในปริมาณที่น้อยลง เช่น เมื่อสิบปีก่อน เราอาจจะใช้เงิน 50 บาท ในการซื้อก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น 2 จาน แต่ในปัจจุบันเงิน 50 บาทสามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นได้เพียงจานเดียว 

การที่เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นได้มาจาก 3 เหตุก็คือ อุปสงค์หรือความต้องการของคนที่มากขึ้น ซึ่งเกิดจากเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด, ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และการคาดการณ์จากธนาคารกลาง ซึ่งแต่ละสาเหตก็จะมีวิธีการแก้ไขที่ต่างกันออกไปนั่นเอง
2022-inflation-rate_2.webp
สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน 

ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ที่ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ไปจนถึงเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น โดยในประเทศมีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าปีที่แล้วถึง 7.1% มากที่สุดในรอบ 13 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกตลอดปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่ค่อนข้างตึงเครียด 

โดยสาเหตุของภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้ เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากราคาพลังงาน ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า การขนส่ง ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยและอาหารสัตว์ การยกเลิกการอุดหนุนจากรัฐบาล รวมถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือมาตรการ Zero Covid ของจีน ที่ทำให้วัตถุดิบต่าง ๆ ขาดแคลนทั่วโลก

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีการปรับการคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้จาก 4.9% เป็น 6.2% ส่วนกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ไว้อยู่ที่ร้อยละ 4 - 5 โดยคาดการณ์จากราคาพลังงาน การนำเข้าสินค้า และการเลิกอุดหนุนของรัฐ ฯลฯ ซึ่งแปลว่าราคาสินค้าต่าง ๆ ยังมีโอกาสที่จะสูงขึ้นได้อีกในปีนี้
2022-inflation-rate_3.webp
การแก้ปัญหาเงินเฟ้อของ FED และแบงก์ชาติ

ในขณะที่ไทยเกิดเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตเป็นหลัก แต่สถานการณ์เงินเฟ้อในอเมริกานั้น เกิดจากการเปิดประเทศที่ทำให้คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเป็นหลัก และอาจมีเรื่องของต้นทุนพลังงานหรือปัจจัยอื่น ๆ มาเสริม ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ออกมาประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.5 - 1.75% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะขึ้นอีกครั้งละ 0.5 - 0. 75% เพื่อให้คนในประเทศชะลอการใช้จ่ายลง 

เมื่อ FED ประกาศขึ้นดอกเบี้ย* ประเทศไทยที่มีเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีตัวเลือกแค่ 2 ทาง คือการคงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม หรือเพิ่มดอกเบี้ยตาม FED ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ล่าสุดก็มีมติ 4 ต่อ 3 ให้คงดอกเบี้ยไว้ แปลว่ามี 3 เสียงมองว่าถึงเวลาที่แบงก์ชาติจะต้องขึ้นดอกเบี้ยได้แล้ว ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองในทางเดียวกันว่า กนง. มีโอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อย่างแน่นอน แม้ว่าการปรับเพิ่มดอกเบี้ยจะไปสกัดกั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ตาม

*ดอกเบี้ย หรือ ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่แบงก์ชาติใช้แลกเปลี่ยนเงินกับธนาคารต่าง ๆ

เงินเฟ้อส่งผลกับเงินในกระเป๋าของเราอย่างไร?

เนื่องจากเงินเฟ้อในครั้งนี้เกิดจากต้นทุนการผลิตที่ราคาสูงขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้รายได้ของเราไม่ได้มากขึ้นตาม แต่ยังคงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม เนื้อสัตว์ และอาหารต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น หาก กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยในส่วนนี้เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อตามที่คาดการณ์ ธนาคารต่าง ๆ ก็จะขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตามไปด้วย ทำให้คนที่มีค่าใช้จ่ายเรื่องการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือผ่อนหนี้ต่าง ๆ ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น ในการผ่อนแต่ละเดือน

ดังนั้นแล้วหากต้นทุนของสินค้ายังไม่ต่ำลง และสถานการณ์โลกต่าง ๆ ยังไม่คลี่คลาย ของต่าง ๆ ก็น่าจะยังแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราที่มีเงินสดในกระเป๋าไม่มากหรือปานกลางก็ควรรัดเข็มขัดในช่วงนี้เอาไว้ หรือหาทางเปลี่ยนเงินสดที่ถืออยู่เป็นสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือคงของเงินไว้ในอนาคต
2022-inflation-rate_4.webp
การเงินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่แน่นอน มีความผันผวน แต่ก็ยังเกี่ยวเนื่องกับชีวิตเราอยู่ตลอด ดังนั้นแล้วเราควรมองหาวิธีออมเงินที่มีคุณภาพ เพื่อต่อยอดและคงคุณค่าของเงินในกระเป๋าเรา สร้างความยั่งยืนทางการเงินให้กับตัวเองให้มากที่สุด อาจจะเริ่มต้นง่าย ๆ จากการมองหาประกันประกันสะสมทรัพย์ดี ๆ อย่าง Easy E-SAVE 10/5 ที่จ่ายเบี้ยเพียง 5 ปี แต่การันตีเงินคืนทุกปี พร้อมความคุ้มครองชีวิตนาน 10 ปี ให้คุณนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท เป็นอีกหนึ่งแผนประกันคุณภาพที่เหมาะกับช่วงเงินเฟ้อเป็นอย่างดี

อ้างอิง:
- Fiat vs. Representative Money: What's the Difference? - Investopedia
- !!! สหรัฐอเมริกา ประเทศเดียวในโลกที่พิมพ์เงินมาใช้ได้อย่างไม่จำกัด !!! - stock2morrow
- เงินเฟ้อไทยสูงสุดรอบ 13 ปี! ของแพงสุดแล้วหรือยัง? - Executive Espresso
- EIC คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง กดดันเศรษฐกิจสหรัฐ soft landing ในปีนี้ - กรุงเทพธุรกิจ
- FED ขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่"ไทย" ต้องขึ้นตามหรือเปล่า? - SpotlightTH
- กนง.ชี้ ‘ขึ้นดอกเบี้ย’ ต้องเริ่มในเวลาที่เหมาะสม-ทันการณ์-ค่อยเป็นค่อยไป - กรุงเทพธุรกิจ