สุขภาพและกีฬา

รู้จักและป้องกัน 'โรคเบาหวาน' หนึ่งในโรคที่มีสถิติพุ่งสูง

FWD Thailand

เจาะโรคสถิติสูง 'เบาหวาน' คืออะไร ป้องกันอย่างไร?

เพราะทุกวันนี้ผู้คนต่างต้องเผชิญกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ส่งผลให้พฤติกรรมการกินเปลี่ยนแปลง มักจะหามื้อง่ายๆอย่าง Fast Food เป็นอาหารหลักประจำวัน หรือ อาจจะกินตามใจปากมากขึ้น บวกกับการไม่ดูแลตนเอง และออกกำลังกายน้อยลง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวการสำคัญที่นำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในโรคที่มีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือ 'โรคเบาหวาน'

สถิติผู้ป่วย 'โรคเบาหวาน' ในประเทศไทยพุ่งสูง

จากข้อมูลของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย พบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานมากถึง 4.8 ล้านคน คิดเป็น 8.4% ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 7.8 ล้านคนในปี 2573 สะท้อนให้เห็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งข้อมูลสถิติโรคเบาหวานจากกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2565 ได้รายงานถึงจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสมที่เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 กว่า 1.5 แสนคน และในปี 2566 สถิติผู้ป่วยใหม่ของโรคเบาหวานในประเทศไทยก็ได้ขยับเพิ่มขึ้นมาอีก 3 แสนคน โดยยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมโรคเบาหวานถึงกลายเป็นหนึ่งในโรคที่คนไทยให้ความสนใจ

รู้จักโรคเบาหวานให้มากขึ้น

โรคเบาหวานเป็นภาวะเรื้อรังที่ร่างกายไม่สามารถผลิต หรือใช้ฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

สาเหตุและประเภทของโรคเบาหวาน

โดยเราสามารถแบ่งโรคเบาหวานออกได้เป็น 4 ชนิด ตามสาเหตุของการเกิดโรค ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes melltius, T1DM)
    เป็นภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน เนื่องจากเซลล์ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินถูกทำลาย โดยสาเหตุหลักมาจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งมักพบในเด็ก
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes melltius, T2DM)
    เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือร่างกายผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้มากถึงร้อยละ 95 ของจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด ซึ่งมักพบในผู้ใหญ่ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ขาดการออกกำลังกาย สำหรับใครที่รู้สึกกังวล กลัวว่าตัวเองจะมีความเสี่ยง ก็สามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ได้ ที่จะช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต (อีก 12 ปีข้างหน้า) ได้อย่างแม่นยำพอสมควร
  • โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพราะ (Diabetes Other specific types)
    เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการผลิตหรือการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลิน เช่น จากยาบางชนิด โรคต่อมไร้ท่อ หรือโรคตับอ่อนอักเสบ
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus, GDM)
    เป็นภาวะที่มักเกิดในไตรมาส 2-3 ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากในระหว่างที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินชั่วคราว ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง แต่มักจะหายไปหลังคลอดบุตร

สัญญาณเตือน! อาการแรกเริ่มของโรคเบาหวาน

ในระยะแรกของผู้ป่วยเบาหวาน อาจยังมีน้ำตาลไม่สูงนัก จึงทำให้อาการยังไม่ชัดเจน แต่หากสังเกตให้ดี จะพบสัญญาณเตือนจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่งสูงขึ้น ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยสัญญาณเตือนจะมีดังนี้

ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน

  • หิวน้ำบ่อย
  • หิวบ่อย
  • น้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย

ผู้ป่วยกำลังตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ก็อาจส่งผลต่อภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ไขมันสะสมในผนังหลอดเลือด จนหลอดเลือดแข็งและแคบลง ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด
  • โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากการที่หลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ จนส่งผลต่อระบบประสาท
  • โรคไตวาย เกิดจากการที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้หลอดเลือดในไตเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถขับของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง
  • โรคประสาทเสื่อม ซึ่งเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตามปลายมือปลายเท้า ก่อให้เกิดอาการชา แน่น หรือปวดแสบบริเวณปลายประสาท

พนักงานออฟฟิตกินอาหารกลางวันแบบเร่งรีบ

ปรับพฤติกรรม ป้องกันโรคเบาหวาน!

ดังที่กล่าวในข้างต้นว่าสถิติโรคเบาหวานในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดูแลสุขภาพตั้งแต่เริ่มเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้ ด้วยวิธี ดังนี้

เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

การเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ดีวิธีหนึ่ง เนื่องจากอาหารที่กินเข้าไปย่อมส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรง โดยเราควรเน้นกินอาหารประเภทผักผลไม้ที่มีใยอาหารสูง เพื่อให้อิ่มนาน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหารและสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด

แน่นอนว่าระดับน้ำตาลในร่างกาย ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดโรคเบาหวาน อีกทั้งโทษของน้ำตาลยังจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม แต่นอกจากน้ำตาลแล้ว เรายังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและโซเดียมสูง รวมถึงอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน

ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ภาวะอ้วน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากมีไขมันส่วนเกินสะสมในร่างกาย ส่งผลต่อระบบเผาผลาญ อีกทั้งเมื่อเกิดภาวะอ้วน ร่างกายจะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง จึงควรเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน เนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดการพักฟื้นจนทำให้เกิดความผิดปกติในกระบวนการเผาผลาญและการดูดซึมน้ำตาลในร่างกาย เพราะฉะนั้น เราควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

การเข้ารับการตรวจสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งการตรวจวัดระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิตอยู่เสมอ จะทำให้สามารถตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และช่วยให้สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคร้าย ร่วมกันช่วยลดสถิติการเกิดโรคเบาหวาน ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าใครอยากอุ่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น ด้วยหลักประกันสุขภาพซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่าย อีซี่ อี-เฮลท์ จาก FWD พร้อมเป็นตัวช่วยหากเจ็บป่วยต้องนอนรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (IPD) สามารถเลือกความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ตามใจ โดยให้ผลประโยชน์ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายตามจริง สูงสุดถึง 1.5 ล้านบาทต่อปี! คุ้มครบเพราะครอบคลุมทั้งการคุ้มครองชีวิต ค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่าย และยังสามารถซื้อแพ็กเสริมค่ารักษาผู้ป่วยนอก OPD และ เงินชดเชยรายวันจาก 7 โรคร้ายแรงได้เองตามใจ สามารถลองคำนวณเบี้ยฯและซื้อประกันผ่านเว็บไซต์ ได้เลย

ข้อมูลอ้างอิง:

1. กรมควบคุมโรค รณรงค์วันเบาหวานโลก. สืบค้นวันที่ 22 มีนาคม 2567 จาก https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=38403&deptcode=brc&news_views=2606

2. โรคเบาหวาน คือะไร. สืบค้นวันที่ 22 มีนาคม 2567 จาก https://www.dmthai.org/new/index.php/sara-khwam-ru/sahrab-bukhkhl-thawpi/health-information-and-articles/health-information-and-articles-2561/2018-diabates-31

3. เบาหวาน รู้ทันป้องกันได้. สืบค้นวันที่ 21 มีนาคม 2567 จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/diabetes-2

4. 5 วิธีป้องกันโรคเบาหวาน. สืบค้นวันที่ 22 มีนาคม 2567 จาก https://www.thaihealth.or.th/5-วิธีป้องกันโรคเบาหวาน/