สุขภาพและกีฬา

ชีวิตติด "ความหวาน" เสี่ยงโรคร้ายแรงกว่าที่คิด

ขนมหวาน และเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่น เป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชอบ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือ "น้ำตาล" โดยองค์กรอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคน้ำตาลในปริมาณที่จำกัด 4-6 ช้อนชา/วัน ในกลุ่มคนวัยทำงานทั่วไป และ 6-8 ช้อนชา/วัน ในกลุ่มคนที่ต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ


แต่ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า “คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยสูงสุดวันละ 20 ช้อนชา” ทำให้สถิติผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอายุของผู้ป่วยลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยสถิตินี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนยังไม่รู้โทษของความหวานมากพอ ทั้งที่ความจริงแล้วขนมหลายชนิด สามารถทำร้ายสุขภาพได้มากกว่าที่ใครหลายคนรู้

21aug_article_15_04-1.webp

ความอันตรายจาก “ความหวาน” ทำร้ายสุขภาพ


1.ทำร้ายผิว เป็นสิวง่าย


หากบริโภคของหวานที่มีน้ำตาลมากเกินไป จะทำให้น้ำตาลตกค้างอยู่ในหลอดเลือด เกิดอนุมูลอิสระในร่างกายมากขึ้นและหลอดเลือดเสียหาย การฟื้นฟูของเซลล์ผิวหนังจึงช้าลง หรือใช้เวลาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม สังเกตได้จากเวลาเป็นแผล แผลจะหายช้ากว่าปกติ รวมถึงเรื่องความสวยความงาม จะเป็นสิวอักเสบได้ง่าย และยังทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นดูแก่กว่าวัย เพราะมีสารอนุมูลอิสระในร่างกายมากเกินไปนั่นเอง

21aug_article_15_03-1.webp

2.เสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงหลากหลายชนิด


ความหวานหรือน้ำตาลที่เยอะเกินไป สามารถทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ และเกิดโรคร้ายแรงได้หลายชนิด เช่น


• โรคเบาหวาน โรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือด หรือเกิดจากความผิดปกติของ “อินซูลิน” ทำให้ร่างกายดึงเอาน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ จึงเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติ เป็นสาเหตุของอาการอักเสบต่างๆ


• โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก เพราะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงร่างกายถูกทำลายจากปริมาณน้ำตาลตกค้างในเส้นเลือด ส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการแตก ตีบ อุดตันง่ายขึ้น


• โรคมะเร็งตับอ่อน มีการตรวจพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนส่วนใหญ่ มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อีกทั้งน้ำตาลยังเป็นอาหารชั้นดี ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ติดเชื้อรุนแรงได้ง่าย น้ำตาลทำให้ความสมดุลแร่ธาตุในร่างกายเสียไป จึงติดเชื้อโรคและเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติ ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเชื้อโรคสามารถใช้น้ำตาลเป็นอาหารหล่อเลี้ยงตัวเอง


• เสี่ยงโรคอ้วน น้ำตาลมีอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มเกือบจะทุกชนิด โดยเฉพาะชาเขียว น้ำอัดลม ที่มีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 10-12 ช้อนชา และมีข้อมูลพบว่าคนไทยกว่า 17 ล้านคนดื่มน้ำอัดลมทุกวัน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะอ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อน

21aug_article_15_01-1.webp

3.เสพติดความหวาน


การกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานเป็นประจำ สมองจะหลั่งสารที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ทำให้เรารู้สึกมีความสุข รวมถึงสั่งการให้ร่างกายมีความต้องการน้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นติดอยู่ในวงจรความหวาน ทำให้รู้สึกเหมือนขาดน้ำตาลไม่ได้ และกลายเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ในที่สุด

 
รสชาติหวานในอาหารและเครื่องดื่ม อาจให้ความรู้สึกสดชื่นทุกครั้งที่กินเข้าไป แต่เมื่อไหร่ที่บริโภคจนเกินพอดี ก็อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำเนินชีวิตในอนาคตของตัวคุณเอง