สุขภาพและกีฬา

ส่องอาการ Long COVID ต้องดูแลตัวเองแบบไหนหลังหายจากโควิด 19

03/11/2565
ในยุคโควิดแบบนี้ แน่นอนเรื่องสุขภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ของทุกคน เพราะโรคโควิด-19 เป็นโรคที่ติดเชื้อได้ง่ายมาก ๆ แถมยังมีผลข้างเคียงกับเราในระยะยาวหรือที่เรียกว่า ภาวะลองโควิด (Long COVID) ด้วย ซึ่งเจ้าภาวะนี้คืออะไร และเราจะมีวิธีจัดการรับมืออย่างไร ไปดูกันเลย 

ทำความรู้จักลองโควิด (Long COVID)

ภาวะลองโควิด (Long COVID) คืออาการที่เกิดขึ้นหรือหลงเหลือหลังจากผู้ป่วยหายจากโรคโควิด-19 มากกว่า 3 เดือน แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่จากการคาดการณ์ว่าภาวะลองโควิดน่าจะเกิดจากไวรัสบางส่วนที่ยังหลงเหลือในร่างกายของเรา การทำงานของอวัยวะหรือภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติขณะป่วย หรือผลข้างเคียงจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มากว่า 2 ปี มีการค้นพบอาการข้างเคียงนี้กว่า 200 อาการ ในทุกระบบของร่างกายไม่ว่าจะเป็น ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยคือ

อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และมึนงง
อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
 ความจำและสมาธิสั้นลง รู้สึกสมองล้า
 ไอเรื้อรัง หอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน
 ปวดเมื่อยตามกระดูด ข้อ และกล้ามเนื้อ
 ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นหน้าอก
 จมูกไม่ได้กลิ่น คัดจมูก มีผดหรือผื่นขึ้นตามตัว
 ผมร่วง
 ประจำเดือนมาไม่ปกติ
long-covid-19_2.jpg
เทคนิคเพิ่มพลังลดอาการ Long Covid

อาการลองโควิดเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังหายจากโรคโควิด-19 ซึ่งหากเราทำความเข้าใจและหาวิธีรักษาสุขภาพอย่างถูกต้อง รับรองว่าเจ้าภาวะลองโควิดตัวดีจะไม่อยู่กับเรานานอย่างแน่นอน 

1. เข้ารับวัคซีนโควิด-19 หลังหายป่วย 
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโควิด-19 จะยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในร่ายกายหลังจากหายประมาณ 2 เดือนแต่ภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ ลดลงจนมีโอกาสติดเชื้อได้ใหม่ ดังนั้นเมื่อหายจากโควิด-19 แล้ว ผู้ป่วยควรฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม ใน 3 - 6 เดือน เพื่อลดโอกาสการติดซ้ำ และบรรเทาอาการลองโควิดที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นเรื่องพื้นฐานของการดูแลสุขภาพอยู่แล้ว แต่สำหรับคนไข้ที่มีอาการลองโควิดนั้น ควรเน้นการรับประทานอาหารที่มีวิตามินจำพวก วิตามิน C ที่พบมากในผักและผลไม้สด, วิตามิน A ที่พบในเครื่องในสัตว์ นม และผักใบเขียว, วิตามิน D จากปลานิล ปลาทับทิม และเห็ด, วิตามิน E จากถั่วหรืออะโวคาโด เสริมด้วยแร่ธาตุสังกะสี จากเนื้อสัตว์ เครื่องใน และข้าวกล้อง เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง และสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ด้วย

3. ออกกำลังกายอย่างเบา
การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น เสริมสมรรถภาพทางกาย และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้เราป่วยได้ยากขึ้นด้วย แต่สำหรับผู้ป่วยลองโควิดนั้นการออกกำลังกายบางประเภทอาจทำให้ปอดทำงานหนักเกินไป ซึ่งอาจเป็นผลเสียและอาจทำให้เราป่วยหนักขึ้นได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรเลือกวิธีออกกำลังกายอย่างเบา เช่น การเดิน และการทำท่ากายบริหารก่อนในเบื้องต้น และค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไป เพื่อบริหารปอดของเราให้แข็งแรงขึ้นตามลำดับ

4. พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในเวลาที่เราหลับร่างกายจะได้พักผ่อนและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรออย่างเต็มที่ ทำให้เราสดใสและหายป่วยจากอาการลองโควิดได้เร็วขึ้น

5. หากมีอาการรุนแรงให้เข้าปรึกษากับแพทย์
หากผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น หอบเหนื่อย หรืออาการอื่น ๆ อย่างหนัก ควรเข้าไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการรักษาอย่างตรงจุดและทันท่วงที

เพราะการมีสุขภาพที่เข็งแรงคือของขวัญที่ล้ำค่าที่สุด ดังนั้นเราก็ควรดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้หายจากอาการป่วยลองโควิดได้โดยเร็ว แต่สำหรับใครที่ยังไม่หายห่วงเรื่องสุขภาพ ก็อย่าลืมมองหา ประกันสุขภาพดี ๆ มาเป็นตัวช่วยเรื่องสุขภาพ ให้คุณหายห่วงและออกไปทำอะไรที่ชอบได้เหมือนเดิม


อ้างอิง

- เปิด 4 สาเหตุ เกิดภาวะ ‘ลองโควิด’ ที่มีมากกว่า 200 อาการ - Matichon Online

- รู้จักลองโควิด “Long COVID” อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 - โรงพยาบาลวิชัยเวช

- ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้อยู่กับคุณแค่สั้น ๆ - RAMA Channel

- “Long COVID” ของฝากจากโควิด หลังติดเชื้อแล้ว โควิดทิ้งอะไรไว้ให้กับเรา ! - โรงพยาบาลพระราม

- กรมอนามัย แนะผู้ป่วยลองโควิด-19 เน้นกิน ‘โปรตีน – โพรไบโอติกส์ – วิตามิน’ ช่วยฟื้นฟูร่างกาย