สุขภาพและกีฬา

คอเลสเตอรอลเพื่อนซี้ สนิทไปก็ไม่ดี ไม่มีก็ไม่ได้

11/11/2565
อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่าวิธีดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดเริ่มต้นได้ด้วยการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะการรับสารอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยเสริมการทำงานของร่างกายในแต่ละส่วนให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เช่นเดียวกับเพื่อนรักและเพื่อนร้ายอย่าง ‘คอเลสเตอรอล’ ไขมันชนิดหนึ่งในร่างกายที่หากมีมากหรือน้อยเกินไปก็อาจส่งผลเสียกับร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเพื่อนคนนี้ให้มากขึ้นกัน

คอเลสเตอรอลเพื่อนรัก
หลายคนอาจจะคิดว่าคอเลสเตอรอลเป็นตัวร้ายที่จะทำลายร่างกายของเรา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง เกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นของตับและอาหารที่เรากินเข้าไป ที่มีหน้าที่ในการสร้างเนื้อเยื้อสมองและเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท สร้างเยื่อบุผิวเซลล์และฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ช่วยเปลี่ยนแสงแดดเป็นวิตามินซี และยังเป็นกำลังเสริมให้กับแคลเซี่ยมในการสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูกอีกด้วย

ดังนั้นคอเลสเตอรอลจึงเป็นไขมันอีกกลุ่มที่สำคัญกับการทำงานของสมอง และส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งการขาดคอเลสเตอรอลก็อาจมีผลให้การทำงานของสมองและระบบฮอร์โมนได้เช่นกัน
cholesterol-best-friend_2.webp
คอเลสเตอรอลมีฝาแฝด?
เมื่อคอเลสเตอรอลอยู่ในเลือดจะจับตัวกับโปรตีนและกลายเป็น ไลโพโปรตีน (Lipoprotein) ที่ทำหน้าที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลและกำจัดคอเลสเตอรอลในร่างกาย

ซึ่งไลโพโปรตีนก็ถูกแบ่งเป็นสองชนิดเหมือนกับพี่น้องฝาแฝด มีแฝดพี่ที่ชื่อว่า HDL (High Density Lipoprotein) หรือที่เราเรียกว่าไขมันดี และแฝดน้องที่ชื่อว่า LDL (Low Density Lipoprotein) หรือมีชื่อเล่นว่าไขมันร้ายนั่นเอง

ไขมันดี หรือ HDL (High Density Lipoprotein) มีหน้าที่นำคอเลสเตอรอลส่วนเกินและกรดไขมันจากส่วนต่าง ๆ ส่งไปทำลายที่ตับ และขับออกทางน้ำดี โดยทั่วไปผู้ชายควรมีระดับไขมันดีสูงกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และผู้หญิงควรมีไขมันดีสูงกว่า 55 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 

ไขมันร้าย หรือ LDL (Low Density Lipoprotein) เป็นไขมันที่มีหน้าที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่หากมีมากเกินไป ไขมันส่วนนี้จะเข้าไปสะสมในผนังหลอดเลือด และอาจทำให้หลอดเลือดตีบหรือหลอดเลือดอุดตันได้ ซึ่งคนทั่วไปควรมีระดับ LDL ไม่เกิน 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และผู้ป่วยโรคเส้นเลือดตีบและโรคเบาหวานไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

กินอะไรให้คอเลสเตอรอลไม่สูง?

หลักๆ แล้วการควบคุมคอเลสเตอรอลสามารถทำได้ด้วย ออกกำลังกาย ลดการสูบบุหรี่ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณไขมันดี และลดปริมาณไขมันร้าย อย่างเช่น

1. น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง โดยต้องรับประทานในปริมาณที่พอดี หรือนำมาปรุงในความร้อนต่ำเพื่อให้ไขมันดีไม่สลายไป
2. ผัก ผลไม้ และธัญพีชที่มีกากใยสูง เช่น แอปเปิ้ล ลูกพรุน สตรอว์เบอร์รี่ บร็อกโคลี่ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต และรำข้าว ซึ่งกากใยในอาหารกลุ่มนี้จะเข้าไปช่วยดูดซับคอเลสเตอรอลในลำไส้
3. ปลาที่มีโอเมก้า 3 เช่น แซลมอน ทูน่า แมคเคอเรล และซาร์ดีน ที่จะช่วยเพิ่มไขมันดีให้กับร่างกาย
4. ถั่วเปลือกแข็ง จำพวกอัลมอนด์ ถั่วลิสง ถั่วพิตาชิโอ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่มีกากใยสูงและมีสารสเตอรอล ช่วยยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลในร่างกายได้ 
5. อะโวคาโด เป็นผลไม้ที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูง การรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และอาจช่วยลดความเสี่ยงในกลุ่มโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดได้ด้วย
cholesterol-best-friend_3.webp
สุดท้ายแล้วเจ้าคอเลสเตอรอลเพื่อนซี้ก็ยังมีประโยชน์ต่อตัวเราอยู่มาก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้เราเจ็บปวดได้เช่นกัน ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือการเว้นระยะห่างที่พอเหมากับเพื่อนคนนี้โดยการควบคุมเจ้าคอเลสเตอรอลให้ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อสุขภาพที่ดีของเรานั่นเอง

นอกจากการดูแลตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมหาประกันที่อุ่นใจมาช่วยดูแลสุขภาพเพิ่มเติม อย่าง FWD Easy E-heart online critical illness ที่พร้อมคุ้มครองเมื่อป่วยเป็นโรคในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องเจ้าคอเลสเตอรอลเพื่อนรักเพื่อนร้ายอีกต่อไป


อ้างอิง

- ไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลและโรคหัวใจ - โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

- อาหารไขมันดี เลือกกินให้ถูกเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ - พบแพทย์

- ใครว่าคอเลสเตอรอลไม่มีประโยชน์ - Amarin Books

- ไขมันเลว กับโรคหลอดเลือด - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาติไทย